การแสวงบุญ หรือการจาริกไปเพื่อทำการบูชาสังเวชนียสถาน เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยในสมัยนั้นชาวพุทธจะจาริกแสวงบุญโดยเดินทางมาเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ในภายหลังมีผู้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ผู้มีศรัทธาควรไปยัง ณ สถานที่ใด เพื่อยังให้เกิดความเจริญใจ (ด้วยศรัทธา เสมือนเข้าเฝ้าพระพุทธองค์) พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบว่า สถานที่ควรไปเพื่อยังให้เกิดความแช่มชื่น เบิกบานใจ เจริญใจ และสังเวชใจเมื่อได้ไป คือ สังเวชนียสถานทั้ง 4 ตำบลดังพระพุทธพจน์ดังต่อไปนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สถานที่ควรเห็น ควรให้เกิดความสังเวชแห่งกุลบุตรผู้มีศรัทธา ๔ แห่งนี้ ๔ แห่งเป็นไฉน คือ สถานที่ควรเห็น ควรให้เกิดความสังเวชแห่งกุลบุตรผู้มีศรัทธาว่า พระตถาคตประสูติ ณ ที่นี้ ๑ พระตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ที่นี้ ๑ พระตถาคตทรงประกาศธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ณ ที่นี้ ๑ พระตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ณ ที่นี้ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สถานที่ควรเห็น ควรให้เกิดความสังเวชแห่งกุลบุตรผู้มีศรัทธา ๔ แห่งนี้แล ฯ
โดยพระพุทธองค์ได้ตรัสถึงอานิสงส์ของการจาริกแสวงบุญไปยังสังเวชนียสถานด้วยความศรัทธาว่า
ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เที่ยวจาริกไปยังเจดีย์ (สังเวชนียสถาน) มีจิตเลื่อมใสแล้ว จักทำกาละลง ชนเหล่านั้นทั้งหมดเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ
— พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตรพระมหา ดร.คมสรณ์ คุตตธัมโม ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่พระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ได้ให้เหตุผลของการเดินทางไปไหว้พระแสวงบุญที่ประเทศอินเดีย เพื่อจักให้ท่านผู้ศรัทธาได้พิจารณาถึงความเป็นจริงดังนี้
๑. เพราะอินเดียเป็นแผ่นดินที่ให้กำเนิดพระพุทธศาสนา ซึ่งถ้าเราจะเปรียบเทียบการบำรุงต้นไม้ก็ต้องรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย ก็ต้องรดน้ำที่ต้นที่ราก ต้นไม้จึงจะเจริญงอกงาม การที่เราไปบำเพ็ญบุญ สร้างบารมี ถ้าจะให้มีพลังและบารมีจักเจริญงอกงามได้เต็มที่ ก็ต้องไปที่อินเดีย แดนชมพูทวีป อันเป็นดินแดนต้นกำเนิดแห่งพระพุทธศาสนานั่นเอง ผู้ศรัทธาที่มีสิทธิเลือกจึงเลือกที่จะไปไหว้พระ ณ ที่กำเนิดของแท้ หรือสถานที่จริงให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต
๒. พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอดีตระหว่างบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ก็ได้บำเพ็ญบารมีในแผ่นดินชมพูทวีปแห่งนี้ การเดินทางไปที่อินเดียจึงเท่ากับว่าเป็นการได้เดินตามรอยพระพุทธเจ้า จะได้มีโอกาสสัมผัสถึงบรรยากาศการบำเพ็ญบารมีตามแบบอย่างพระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลายที่ท่านเดินทางไปมาแล้วด้วยตนเอง
๓. การที่เราฟังพระเทศน์ก็ดี สวดมนต์ก็ดี การบรรยายก็ดี เรื่องพระพุทธศาสนา เรื่องพระพุทธประวัติ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับประเทศอินเดียแทบทั้งสิ้น นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่งนักถ้าหากผู้ที่บรรยายเรื่องพระพุทธประวัติ เรื่องพระพุทธเจ้า เรื่องธรรมบท ไม่เคยพบไม่เคยได้เห็นแดนดินถิ่นกำเนิดแห่งพระพุทธศาสนา ได้แต่สร้างภาพและจินตนาการ ตามคัมภีร์และตำราที่เรียนรู้มา ซึ่งความเป็นจริงแล้วต่างกันโดยสิ้นเชิง
พระมหา ดร.คมสรณ์ บอกต่อไปอีกด้วยว่า การไปไหว้พระที่ประเทศอินเดีย มีการเข้าถึงเป็นประสบการณ์ตรง ดังนี้
๑. มาถึงตา คือได้เห็นกับตาตนเอง เป็นพุทธสถานที่จริงๆ เช่นต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้จริงๆ พระแท่นวัชรอาสน์ คือที่พระพุทธองค์ประทับนั่งบำเพ็ญธรรม จนได้บรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ ในขณะเดียวกัน ในเมืองไทยแม้จะมีพุทธสถานก็ล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่สร้างและจำลองขึ้นมา
๒. มาถึงหู คือได้ฟังเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในอดีต ณ สถานที่นั้นๆ ดุจได้ย้อนเวลาในอดีต ทบทวนความรู้ จากที่ได้เคยได้ยินได้ฟัง ณ สถานที่จริงๆ เหมือนกับว่าได้กลับเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์จริงด้วยตนเอง
๓. มาถึงที่ ได้มากราบมาไหว้สัมผัสด้วยตนเอง ซึ่งก็ไม่เหมือนกับที่ได้ดูจากภาพ จากสื่ออื่นๆ ซึ่งสามารถสัมผัส เข้าถึงรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ที่ได้ไปถึงด้วยความลึกซึ้ง
๔. มาถึงใจ ได้สัมผัสความรู้สึกที่เกิดจากใจ ความรู้สึกที่มิอาจอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้ บางท่านเกิดความเอิบอิ่มใจ เกิดปีติ น้ำตาไหลโดยไม่รู้สาเหตุ ความรู้สึกเหล่านี้เกิดจากใจ อันเป็นความรู้สึกจากภายใน ซึ่งความรู้สึกนี้จะเกิดก็ต่อเมื่อได้มาสัมผัสด้วยใจตนเอง ณ สถานที่จริงๆ เท่านั้น